หลักการทำงานของภาพกราฟิก


หลักการทำงานของภาพกราฟิก แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ

       1.2.1 ภาพกราฟิกแบบราสเตอร์ (Raster)

               ภาพกราฟิกแบบราสเตอร์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บิตแมพ (Bitmap) เป็นภาพกราฟิกที่เกิดจากการเรียงตัวของจุด
สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ  ที่เรียกว่า พิกเซล (Pixel) มีการเก็บค่าสีที่เจาะจงในแต่ละตำแหน่งจนเกิดเป็นภาพในลักษณะต่าง ๆ     เช่น ภาพถ่าย  ดังนั้นภาพแบบ ราสเตอร์มีข้อดี คือ เหมาะสำหรับภาพที่ต้องการสร้างสีหรือกำหนดสีที่ต้องการความละเอียดและสวยงาม
         ข้อเสีย คือ หากมีการขยายขนาดภาพซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนจุดสีให้กับภาพ ส่งผลให้คุณภาพของภาพนั้นสูญเสียไป
ความละเอียดของภาพจะลดลงมองเห็นภาพเป็นแบบ จุดสีชัดเจนขึ้นไฟล์ภาพจะมีขนาดใหญ่และใช้เนื้อที่ในการจัดเก็บมากตามไปด้วย โปรแกรมที่นิยมใช้ในการสร้างภาพแบบราสเตอร์ ได้แก่ โปรแกรม Paintbrush โปรแกรม Adobe Photoshop เป็นต้น 


      1.2.2  ภาพกราฟิกแบบเวคเตอร์ (Vector)
              ภาพกราฟิกแบบเวคเตอร์ เป็นภาพกราฟิกที่เกิดจากการประมวลผลโดยอาศัยหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ มีสีและ
ตำแหน่งที่แน่นอน ภาพจะมีความเป็นอิสระต่อกัน โดยแยกชิ้นส่วนของภาพทั้งหมดออกเป็นเส้นตรง เส้นโค้ง หรือรูปทรง 
เมื่อมีการขยายภาพความละเอียดของภาพจะไม่ลดลง เช่น ภาพการ์ตูนเมื่อถูกขยายภาพออกมา ภาพที่ได้ก็จะยังคงรายละเอียด
และความชัดเจนไว้เหมือนเดิม และขนาดของไฟล์ภาพจะมีขนาดเล็กกว่าภาพแบบราสเตอร์ โปรแกรมที่นิยมใช้สร้างภาพแบบเวคเตอร์ 
ได้แก่ โปรแกรม Illustrator  โปรแกรม CorelDraw เป็นต้น 

 

ประเภทของไฟล์ภาพกราฟิก 
         การสร้างภาพกราฟิกหรือการตกแต่งภาพกราฟิกประเภทของไฟล์ภาพกราฟิกเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มี ความสำคัญ เพราะความละเอียดของไฟล์ภาพจะส่งผลกับขนาดของภาพ เช่น ภาพที่นำมาใช้งาน บนเว็บเพจควรจะต้องมีขนาดเล็ก เพื่อนำไปเรียกใช้งานบนเว็บเพจได้อย่างรวดเร็ว ประเภทของไฟล์ภาพกราฟิกที่นิยมใช้โดยทั่วไป ได้แก่

1  JPEG หรือ JPG (Join Photographic Export Group)
          เป็นรูปแบบไฟล์ที่เก็บภาพแบบราสเตอร์ที่ไม่ต้องการคุณภาพสูงมากนัก เช่น ภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือและภาพกราฟิกสำหรับแสดงบนอินเทอร์เน็ต สามารถแสดงสีได้ถึง 16.7 ล้านสี เป็นไฟล์ภาพชนิดหนึ่ง
ที่ได้รับความนิยม เพราะไฟล์มีขนาดเล็กสามารถบีบอัดข้อมูลได้หลายระดับ 

          จุดเด่น
           1. สนับสนุนสีได้ถึง 24 bit 
           2. แสดงสีได้ถึง 16.7 ล้านสี
           3. สามารถกำหนดค่าการบีบอัดไฟล์ได้ตามที่ต้องการ
           4. มีระบบแสดงผลแบบหยาบและค่อย ๆ ขยายไปสู่ละเอียดในระบบโพรเกรสซีฟ (Progressive)
           5. มีโปรแกรมสนับสนุนการสร้างจำนวนมาก 
           6. เรียกดูได้กับบราวเซอร์ (Browser) ทุกตัว
           จุดด้อย 
           1. ไม่สามารถทำภาพให้มีพื้นหลังแบบโปร่งใส (Transparent) ได้
           2. ทำภาพเคลื่อนไหว (Animation) ไม่ได้

.2   GIF (Graphic Interchange Format) 
           เป็นไฟล์ภาพที่สามารถบีบอัดข้อมูลให้มีขนาดเล็กได้ส่วนมากจะนำไปใช้บันทึกเป็นไฟล์ภาพ เคลื่อนไหวและนิยมมากในการใช้งานบนเว็บเพจ
           จุดเด่น
           1.  สามารถใช้งานข้ามระบบไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) หรือระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ (Unix) ก็สามารถ
เรียกใช้ ไฟล์ภาพสกุลนี้ได้
           2.  ภาพมีขนาดไฟล์ต่ำ จากเทคโนโลยีการบีบอัดภาพทำให้สามารถส่งไฟล์ภาพได้อย่างรวดเร็ว
           3.  สามารถทำภาพพื้นหลังแบบโปร่งใสได้
           4.  มีโปรแกรมสนับสนุนการสร้างจำนวนมาก
           5.  เรียกดูได้กับบราวเซอร์ทุกตัว
           6.  สามารถนำเสนอแบบภาพเคลื่อนไหวได้
           จุดด้อย
           1.  แสดงสีได้เพียง 256 สี 
           2.  ไม่เหมาะกับภาพที่ต้องการความคมชัดหรือความสดใส 

3   PNG (Portable Network Graphics)

            เป็นชนิดของไฟล์ภาพที่นำจุดเด่นของไฟล์ภาพแบบ GIF และแบบ JPG มาพัฒนาร่วมกัน ทำให้ไฟล์ภาพชนิดนี้แสดงสีได้มากกว่า  256 สี และยังสามารถทำพื้นหลังภาพให้โปร่งใสได้ จึงเป็นไฟล์ภาพที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน 
           จุดเด่น
           1.   สนับสนุนสีได้ตามค่า True color (16 bit, 32 bit หรือ 64 bit)
           2.   สามารถกำหนดค่าการบีบอัดไฟล์ได้ตามที่ต้องการ
           3.   ทำภาพพื้นหลังแบบโปร่งใสได้
           จุดด้อย
           1.   หากกำหนดค่าการบีบอัดไฟล์ไว้สูงจะใช้เวลาในการคลายไฟล์ภาพสูงตามไปด้วย 
           2.   ไม่สนับสนุนกับบราวเซอร์รุ่นเก่า 
           3.   โปรแกรมสนับสนุนในการสร้างมีน้อย

4  BMP (Bitmap)
           เป็นรูปแบบของไฟล์ภาพมาตรฐานที่ใช้ได้ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์โดยมีลักษณะการจัดเก็บ ไฟล์ภาพเป็นจุดสีทีละจุดจึงทำให้ภาพดูเสมือนจริง
           จุดเด่น
            1.   แสดงรายละเอียดสีได้ 24 บิต
            2.   ไม่มีการสูญเสียข้อมูลใด ๆ เมื่อมีการย่อหรือขยายภาพ
            3.   นำไปใช้งานได้กับทุกโปรแกรมในระบบปฏิบัติการวินโดวส์
            จุดด้อย 
            1.   ภาพมีขนาดใหญ่มากจึงใช้เนื้อที่ในการจัดเก็บค่อนข้างมาก
            2.   ความละเอียดของภาพอาจจะไม่ชัดเจนเหมือนต้นฉบับ

5  TIF หรือ TIFF (Tagged Image File)
            เป็นไฟล์ที่ใช้เก็บภาพแบบราสเตอร์คุณภาพสูง เช่น ภาพกราฟิกที่นำไปทำงานด้านสิ่งพิมพ์ (Artwork) สามารถเก็บข้อมูลของภาพไว้ได้
ครบถ้วน ทำให้คุณภาพของสีเหมือนต้นฉบับ 
            จุดเด่น 
            1.   สามารถใช้งานข้ามระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์หรือระบบปฏิบัติการยูนิกซ์  ก็สามารถเรียกใช้ไฟล์ภาพ
ชนิดนี้ได้
            2.   แสดงรายละเอียดสีได้ 48 บิต
            3.   ไฟล์มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
            4.   เมื่อมีการบีบอัดไฟล์จะมีการสูญเสียข้อมูลน้อยมาก
            5.   มีโปรแกรมสนับสนุนการสร้างจำนวนมาก
            จุดด้อย 
            1.   ไฟล์ภาพมีขนาดค่อนข้างใหญ่
            2.   ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บไฟล์ภาพสูง

6  PSD (Photoshop Document) 
            เป็นไฟล์ภาพเฉพาะโปรแกรม Adobe Photoshop    จะทำการบันทึกแบบแยกเลเยอร์ (Layer) โดยเก็บประวัติการทำงาน
และรายละเอียดการตกแต่งภาพ เอาไว้ เพื่อง่ายต่อการแก้ไขในภายหลัง 

            จุดเด่น 
            1.   มีการบันทึกแบบแยกเลเยอร์และเก็บประวัติการทำงานทุกขั้นตอน
            2.   สามารถนำไฟล์ภาพมาแก้ไขได้ในภายหลัง
            จุดด้อย 
            1.   ไฟล์ภาพมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับไฟล์ภาพประเภทอื่น
            2.   ไม่สามารถเปิดใช้งานในโปรแกรมอื่นได้

ที่มา : https://sites.google.com/a/sikaopracha.ac.th/porkaerm-khxmphiwtexr-krafik/prapheth-khxng-fil-phaph-krafik